Relays – Industrial
รีเลย์อุตสาหกรรม
หน้าที่ของรีเลย์
หน้าที่ของรีเลย์ คือ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ตรวจสอบสภาพการณ์ของทุกส่วนในระบบกำลังไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา หากระบบมีการทำงานที่ผิดปกติ รีเลย์จะเป็นตัวสั่งการให้ตัดส่วนที่ลัดวงจรหรือส่วนที่ทำงานผิดปกติออกจากระบบทันที โดยเซอร์กิตเบรกเกอร์ จะเป็นตัวที่ตัดส่วนที่เกิดฟอลต์ออกจากระบบจริงๆ ซึ่งจะเห็นว่ารีเลย์เป็นเพียงตัวส่งสัญญาณสั่งการเท่านั้นและจะต้องทำงานร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์
กรณีที่มีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย รีเลย์จะเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนภัยให้พนักงานที่ทำหน้าที่ควบคุมทราบ เพื่อให้พนักงานทำการแก้ไขให้ระบบสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยรีเลย์จะยังไม่สั่งการให้เซอร์กิตเบรกเกอร์ตัดวงจรที่ผิดปกติออก เพียงแต่ส่งสัญญาณเตือนภัยเท่านั้น
รีเลย์ยังสามารถบอกตำแหน่งที่เกิดฟอลต์ และสาเหตุของฟอลต์โดยใช้ข้อมูลจากรีเลย์ไปพิจารณาร่วมกับผลของออสซิลโลสโคบ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของฟอลต์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ประโยชน์ของรีเลย์
1. ทำให้ระบบส่งกำลังมีเสถียรภาพ (Stability) สูงโดยรีเลย์จะตัดวงจรเฉพาะส่วนที่เกิดผิดปกติออกเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการลดความเสียหายให้แก่ระบบน้อยที่สุด
2. ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมส่วนที่เกิดผิดปกติ
3. ลดความเสียหายไม่เกิดลุกลามไปยังอุปกรณ์อื่นๆ
4. ทำให้ระบบไฟฟ้าไม่ดับทั้งระบบเมื่อเกิดฟอลต์ขึ้นในระบบ
คุณสมบัติที่ดีของรีเลย์
- ต้องมีความไว (Sensitivity) คือมีความสามารถในการตรวจพบสิ่งที่ผิดปกติเพียงเล็กน้อยได้
- มีความเร็วในการทำงาน (Speed) คือความสามารถทำงานได้รวดเร็วทันใจไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์และไม่กระทบกระเทือนต่อระบบ โดยทั่วไปแล้วเวลาที่ใช้ในการตัดวงจรจะขึ้นอยู่กับระดับของแรงดันของระบบด้วย
ระบบ 6-10 KV จะต้องตัดวงจรภายในเวลา 1.5-3.0 วินาที
ระบบ 100-220 KV จะต้องตัดวงจรภายในเวลา 0.15-0.3 วินาที
ระบบ 300-500 KV จะต้องตัดวงจรภายในเวลา 0.1-0.12 วินาที
- มีการคัดเลือก (Selectivity) ที่ดี คือสามารถจำแนกได้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นชนิดใด มีความรุนแรงแค่ไหน จะทำการตัดวงจรตัดทันทีหรือจะหน่วง (Delay) ไว้ก่อนหรือจะส่งเพียงสัญญาณเตือนเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องตัดสินใจได้ถูกต้อง